ยินดีต้อนรับครับ

ขอแนะนำให้ทุกท่าน สมัครสมาชิก เพื่อป้องกันการแอบอ้างชื่อครับ

Mark Mafia

เมื่อไหร่ต้องรีบไปพบสัตวแพทย์
  • "แม่หมาคลอด เมื่อไหร่ต้องรีบไปพบสัตวแพทย์และข้อแทรกซ้อนภายหลังการผ่าคลอด"
    น.สพ.ศักดิ์ชัย เรือนเพชร

    เจ้าของสุนัขมือใหม่ที่ไม่เคยได้ลูกสุนัขมาก่อนจะพบอาการตื่นเต้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่แม่สุนัขกำลังอยู่ในช่วงการคลอด ในบทความนี้ เราจะมาสรุปอาการที่สำคัญที่ใช้สำหรับแนะนำเจ้าของสุนัขที่อาจพบความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยๆกับแม่สุนัขที่อยู่ในช่วงคลอดและเกิดภาวะคลอดยาก (dystocia) ความจำเป็นที่เจ้าของสุนัขควรที่จะทราบไว้ เพื่อที่จะได้ตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่เจ้าของสุนัขจะต้องพาแม่สุนัขมาพบสัตวแพทย์โดยทันที

    อาการที่พบไม่ว่าจะพบเพียงอาการเดียวหรือหลายอาการร่วมกัน เจ้าของสุนัขควรพาแม่สุนัขมาพบสัตวแพทย์ทันที ซึ่งอาการดังกล่าวได้แก่

    1.แม่สุนัขมีการเบ่งอย่างแรงนานกว่า 30 นาที แต่ยังไม่มีลูกสุนัขคลอดออกมา (Strong abdominal contractions for greater than 30 minutes with no production of fetus)

    2.แม่สุนัขมีสภาพอ่อนแรงนานกว่า 2 ชั่วโมง (Weak straining for greater than two hours)

    3.ลูกสุนัขที่คลอดออกมาตัวสุดท้ายนานกว่า 4 ชั่วโมงแล้วตัวทีเหลืออยู่ในท้องก็ยังไม่คลอดออกมา (Greater than four hours between puppies)

    4.แม่สุนัขตั้งท้องนานกว่า 68 วัน (Prolonged gestation greater than 68 days)

    5.ลูกสุนัขคาอยู่บริเวณปากช่องคลอดของแม่สุนัขโดยไม่สามารถคลอดออกมา (Retained pup at the vulva)

    6.พบสิ่งคัดหลั่งสีเขียว-ดำออกมาจากปากช่องคลอดของแม่สุนัขนาน 3 ชั่วโมงแต่ยังไม่มีลูกสุนัขออกมา (Lochia [green/black discharge from vulva] present for 3 hours with no delivery of pup)

    7.มีสิ่งคัดหลั่งสีใสจำนวนมากไหลออกมาจากปากช่องคลอดของแม่สุนัข (Copious clear discharge)

    8.มีเลือดไหลออกมาจากปากช่องคลอดของแม่สุนัข (Bloody discharge)

    หากพบมีอาการดังกล่าวและไปพบสัตวแพทย์ได้ทันท่วงที ก็จะเป็นไปได้สูงที่จะสามารถรักษาชีวิตทั้งแม่สุนัขหรือลูกสุนัขที่อยู่ในท้องได้ บ่อยครั้งที่สัตวแพทย์จำเป็นที่จะต้องช่วยคลอดซึ่งอาจจะช่วยโดยวิธีการใช้ยา (Medical treatment of dystocia) เช่น การให้ Oxytocin เพื่อช่วยในการบีดตัวของมดลูก (stimulates uterine contraction) อาจพิจารณาการให้ Calcium และ Dextrose ร่วมด้วยหากมีความจำเป็น หรืออาจจำเป็นต้องช่วยสุนัขโดยการศัลยกรรมผ่าคลอด (Caesarian section) โดยในปัจจุบันนี้การช่วยเหลือสุนัขที่มีภาวะคลอดยาก ถ้ามาอย่างทันท่วงที อัตราการรอดชีวิตของลูกสุนัขก็จะมีอัตราสูงขึ้น

  • ข้อแทรกซ้อนที่สามารถพบได้ภายหลังการช่วยคลอดโดยเฉพาะการผ่าคลอด (Potential complication)

    1.วางยาสลบแล้วทำให้แม่สุนัขหรือสุนัขเสียชีวิต (Anesthetic death of mother or puppies) มักเกิดจากการใช้วิธีการระงับความรู้สึกไม่เหมาะสม ปกติแล้วสัตวแพทย์มักจะใช้วิธีการระงับความรู้สึกโดยการบล็อกหลัง (Epidural regional anesthesia) หรือใช้ยาดมสลบ (inhalation anesthesia)

    2.ลูกสุนัขตายแรกคลอด (stillbirth) ส่วนใหญ่มักเกิดจากการผ่าคลอดเพื่อช่วยลูกช้าเกินไป

    3.การติดเชื้อภายหลังการผ่าคลอด (Infection)

    4.มดลูกไม่เข้าอู่ (Subinvolution of the uterus) เป็นผลมาจากเลือดออกในมดลูกซึ่งจะพบว่ามีสิ่งคัดหลั่งเป็นเลือดออกมาจากปากช่องคลอดนานเป็นสัปดาห์หลังผ่าคลอด



    จากข้อมูลข้างต้นคงจะเป็นส่วนสำคัญในการที่จะช่วยในการตัดสินใจว่าเมื่อไหร่ต้องรีบไปพสัตวแพทย์เพื่อช่วยชีวิตทั้งแม่สุนัขและลูกสุนัขให้มีชีวิตรอดในช่วงวิกฤตของชีวิต