ในปี ค.ศ. 1992 มีการตีพิมพ์หนังสือที่เขียนโดย I. William Lane ในหัวเรื่อง Sharks Don’t Get Cancer ทำให้กระดูกอ่อนปลาฉลามได้รับความนิยมในการเป็นทางเลือกของการรักษาโรคมะเร็ง โดยมีความเชื่อว่าฉลามเป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยพบรายงานว่าเป็นมะเร็งเหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่าฉลามมีระบบภูมิต้านทานพิเศษที่สามารถปกป้องตัวเองจากโรคร้ายนี้ เนื่องจากมันมีกระดูกอ่อนในปริมาณสูง นอกจากนี้การที่ไม่พบหลอดเลือดในกระดูกอ่อน นำไปสู่สมมติฐานที่ว่าเซลล์กระดูกอ่อนสามารถผลิตสารที่สามารถยับยั้งการสร้างหลอดเลือด ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในวงการแพทย์ว่า กระบวนการสร้างหลอดเลือดใหม่หรือที่เรียกว่า Angiogenesis เป็นกลไกสำคัญของเซลล์มะเร็งในการทำให้ตัวมันได้รับสารอาหารและออกซิเจนจากเลือดเพื่อให้มันเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นและแพร่ลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ฉะนั้นการที่ค้นพบสารที่ยับยั้งกระบวนการนี้ได้ก็เป็นยุทธวิธีหนึ่งในการต่อสู้กับมะเร็ง ซึ่งการศึกษาพบว่ากระดูกอ่อนปลาฉลามมีสารที่มีคุณสมบัติยับยั้งกระบวนการนี้ด้วย ซึ่งเท่ากับว่าช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งนั่นเอง